Channel Weed Thailand

420PRODUCTION.CO.,LTD

คืนชีพ พรบ.กัญชา

1 min read

คืนชีพ พรบ.กัญชา จ่อดันเข้าสภา ส่องเงื่อนไขใหม่ไม่อนุญาตสันทนาการ แต่ไม่ห้ามสูบ


นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.พรรคภูมิใจไทย แถลงข่าวการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง รวมทั้งสิ้น 94 มาตราซึ่งเป็นร่างฉบับเก่าที่ถูกตีตกไปเมื่อรัฐบาลชุดที่แล้ว พร้อมยืนยันว่าเป็นการปลดล็อกกัญชาเพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ไม่มีรูปแบบสันทนาการ ซึ่งล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั้นมีความคิดเห็นตรงกันพร้อมเปิดให้นำเสนอในรัฐบาลชุดนี้
ปัจจุบันมูลค่าของตลาดกัญชาเติบโตขึ้น 2.1 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับภาคเอกชน หลังจากปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดในปี 2565 ขณะที่ศาลปกครองสูงสุด ได้ยกคำร้องเรียนเรื่องกัญชาสร้างปัญหาสังคม เพราะเห็นว่าสิ่งที่ผู้ร้องกล่าวหากัญชา ว่าใช้กันอย่างแพร่หลาย เกิดผลกระทบเชิงลบทางสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นการคาดเดา ถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด

ส่องเงื่อนไขใหม่ ไม่อนุญาตสันทนาการ แต่ไม่ห้ามสูบ

ชวนทุกคนมาส่อง พรบ.กัญชาฉบับเดิมจำนวน 94 มาตรานั้น ในมาตราที่ 4 กำหนดรูปแบบของการใช้กัญชาไว้อย่างกว้างขวาง อันจะเห็นได้จากการนิยามคำว่า ‘การบริโภค’ ในกฎหมายกัญชา ให้หมายถึง การกิน เคี้ยว อม สูบ หรือการนำเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ หรือในรูปลักษณะใดๆ ซึ่งนิยามข้างต้นกว้างขวางกว่าช่วงที่ประเทศไทยปลดล็อกให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์ได้
แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะพยายามตีกรอบการใช้กัญชาภายในครัวเรือนให้หดแคบเล็กลง โดยกำหนดว่า การใช้ประโยชน์จากกัญชาภายในครัวเรือนจะต้องเป็นไปเพื่อดูแลรักษาสุขภาพตนเอง หรือคนในครอบครัวในครัวเรือนเดียวกัน แต่ในร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไม่ได้กำหนดรายละเอียด หรือขอบเขตว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่าการใช้กัญชาเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ เพราะกฎหมายไม่ได้มีการจำกัดปริมาณกัญชาที่ควรบริโภค หรือกำหนดให้คนที่ต้องการใช้กัญชาต้องมีใบสั่งยา หรือเอกสารทางการแพทย์รับรอง

ในขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ดังกล่าว กลับมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการใช้กัญชาในเชิงพื้นที่มากกว่าจำกัดลักษณะของผู้ใช้ เช่น มาตรา 37/4 ที่ห้ามผู้ใดสูบกัญชา หรือสารสกัดในสถานที่สาธารณะ หรือ มาตรา 37/7 ที่ห้ามผู้ใดขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา ซึ่งแตกต่างกับมาตรการในต่างประเทศ เช่น ในเยอรมนีที่กำหนดว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ ผู้ต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์ และกำหนดปริมาณ หรือขนาดของการใช้งานตามที่แพทย์แนะนำ

ทั้งนี้ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยไม่มีมาตรการจำกัดปริมาณการซื้อขาย หรือครอบครอง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหล หรือการใช้กัญชาเกินกว่าจำนวนที่เป็นอันตราย ดังนั้นการใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะมีหลายประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการควบคู่ไปกับการใช้กัญชาในทางการแพทย์ แต่สิ่งที่นานาประเทศมุ่งเน้นคือ การสร้างมาตรการควบคุม ตั้งแต่การปลูก การผลิต การขาย การใช้ เพื่อไม่ให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชา ทั้งทางตรงและทางอ้อม

Loading

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *