สวรส.ลุยวิจัยปลดล็อกกัญชา หวังแก้ปัญหาสังคม
1 min readนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงมาตรการกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ ว่า แม้ว่าประโยชน์ทางการแพทย์จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกเรื่องการใช้กัญชา แต่หลังปลดล็อกเชิงนโยบายแล้ว จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ดำเนินการคู่ขนาน เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้ การสื่อสารในสังคม หรือแม้แต่ศึกษารูปแบบการใช้เพื่อรักษาการเจ็บป่วยได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันปัญหาหรือสร้างโอกาสใหม่ทางการแพทย์และสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สวรส. เชื่อมั่นว่าการสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา จะสามารถสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อประกอบการพิจารณาและทบทวนการกำหนดกฎหมาย มาตรการ และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ควบคู่กับความปลอดภัยจากการใช้กัญชาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยจะนำไปสื่อสารต่อสังคม เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดประสิทธิภาพไปพร้อมกัน
ด้าน ภญ.นพคุณ ธรรมธัชอารี ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. กล่าวว่า ชุดโครงการประเมินและกำกับติดตามผลกระทบต่อสังคมและสุขภาพจากนโยบายกัญชา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ ผลกระทบและมาตรการที่เกิดขึ้นในไทย หลังประกาศนโยบายกัญชาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แต่ละด้านช่วง 1-2 ปีแรก ภายหลังมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ อาทิ จำนวนของผู้ใช้กัญชา ความรู้/ทัศนคติต่อกัญชา มาตรการการควบคุม รูปแบบการใช้และการเข้าถึงกัญชา ผลกระทบจากการใช้กัญชาในกลุ่มประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา เยาวชนนอกสถานศึกษา เยาวชนในสถานพินิจฯ การปลูก/ผลิตกัญชาที่บ้าน การเฝ้าระวัง การประเมินต้นทุนจากการผลิต/จำหน่าย ฯลฯ รวมถึงการศึกษาดังกล่าวเพื่อการพัฒนาแนวทางเฝ้าระวัง กำกับติดตามหรือประเมินผลกระทบของนโยบายกัญชาของไทยในอนาคต และพัฒนารูปแบบพื้นที่นำร่องธรรมนูญสุขภาพกัญชา เพื่อเป็นต้นแบบของพื้นที่กำกับดูแล ควบคุมการบริโภค การผลิตและจำหน่าย ตลอดจนการลดผลกระทบจากกัญชา
“โครงการมีกรอบแนวคิดการประเมินฯ ในประเด็นผลกระทบด้านต่างๆ ได้แก่ ผลกระทบทางสุขภาพ เช่น พฤติกรรมการใช้กัญชา ปัญหาสุขภาพระยะยาว โรคทางจิตเวช ผลกระทบด้านอาชญากรรม ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบอื่นๆ เช่น คดีจับกุมและเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา, ค่าใช้จ่ายรวมในการซื้อกัญชา ตลอดจนการโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย เป็นต้น” ภญ.นพคุณกล่าว
ภญ.นพคุณกล่าวว่า ชุดโครงการดังกล่าวประกอบด้วยโครงการย่อยต่างๆ อาทิเช่น 1) การเฝ้าระวังพฤติกรรมการใช้ การเข้าถึงกัญชาและสารเสพติดชนิดอื่น ผลกระทบจากการใช้ การรับรู้และความคิดเห็นต่อมาตรการด้านกัญชาในประชากรทั่วไป 2) การสำรวจพฤติกรรมการใช้กัญชาและสารเสพติดชนิดอื่น ความรู้และทัศนคติต่อกัญชาในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและเยาวชนนอกสถานศึกษา 3) การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะในสื่อสังคมออนไลน์ และข่าวอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาในหนังสือพิมพ์ ก่อนและหลังการออกนโยบายกัญชา 4) การศึกษารูปแบบการใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชาในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จังหวัดสงขลา 5) การศึกษาต้นทุนและผลได้ของผู้บริโภค ผู้ผลิตและจำหน่ายกัญชา และสังคมภายหลังการแก้ไขกฎหมายกัญชา 6) การศึกษาผลกระทบจากอันตกิริยาของกัญชาและกระท่อมกับยาที่ใช้รักษาโรคเรื้อรัง 7) การพัฒนารูปแบบชุมชนเป็นศูนย์กลางในการป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด และ 8) การเฝ้าระวังการใช้กัญชาในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลของรัฐ ฯลฯ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Mgronline