ปีใหม่-ความคิดใหม่ “หยุดใส่ร้ายกัญชา”
1 min read“หยุดใส่ร้ายกัญชา” พบงานวิจัยรองรับกว่า 30,000 ชิ้น ตอกย้ำเป็น ‘สมุนไพรรักษาโรค’
ถึงเวลาที่คนไทยต้องก้าวข้ามอคติกัญชา หรือ เกรงกลัวในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ หลังพบข้อมูลว่ามีงานวิจัยกว่า 30,000 ชิ้น รับรองคุณประโยชน์และโทษในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กัญชาถือเป็นหนึ่งในพืชเพื่อใช้รักษาโรคที่ได้รับความสนใจศึกษามากที่สุดแห่งทศวรรษ เพื่อต่อสู้กับมลทินของกัญชา (Stigma) ซึ่งปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาเรียกคนกลัวกัญชาว่าเป็นพวกล้าหลัง ขณะที่คนรุ่นใหม่บริโภคพืชสมุนไพรมากขึ้นทดแทนการใช้ยาเคมีรักษาโรคและการดื่มสุรา รวมไปถึงลดการบริโภคบุหรี่ได้
ที่ผ่านมาข้อมูลศึกษากัญชาถูกตีพิมพ์ในวารสารระดับโลกและองค์กรศึกษาชั้นนำด้านการแพทย์มากมาย มีแนวโน้มผลิตงานวิจัยมากขึ้นทุกปี ซึ่งเรื่อง Endocannabinoid เป็นความรู้ใหม่เชิงการแพทย์จึงไม่แปลก แม้แต่หมออาวุโสในไทยเองก็ยังไม่มีความเข้าใจมากพอจึงออกมาต่อต้านอย่างที่เห็นกัน ขณะที่วงการวิทยาศาสตร์โลกต่างเร่งศึกษากัญชาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการแพทย์และเศรษฐกิจ ขานรับอุตสาหกรรมที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆและมีการเปิดเสรีกัญชาในหลายประเทศทั่วโลก สอดคล้องกับงานวิจัยส่วนใหญ่ที่พึ่งเป้าไปเรื่องคุณสมบัติการรักษาโรคและผลกระทบต่อสังคมในพื้นที่เปิดเสรี นำไปสู่การออกแบบกฎหมายควบคุมกัญชาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลพบว่างานศึกษาวิจัยกัญชาย้อนหลังตั้งแต่ปี 1840 มีมากถึง 45,900 ชิ้น
หนึ่งในความเห็นจากผู้คลุกคลีกับกัญชาเชิงการแพทย์มานานอย่าง รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยกล่าวไว้ว่า กระแสโจมตีบิดเบือนกัญชาในปัจจุบันกำลังฉุดประเทศไทยให้ถอยหลังจากโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงสร้างอนาคตที่ไม่ปลอดภัยให้กับเยาวชน โดยเฉพาะการเสพติดสุรา-กาแฟ-บุหรี่ ซึ่งอัตราเสพติดมากกว่า 2-3 เท่า แต่กลับเป็นสิ่งถูกกฎหมายที่สังคมนิ่งเฉย
“วาทกรรมโจมตีกัญชา ทั้งการพูดซ้ำๆ ตอกย้ำบ่อยๆ อาจจะทำให้หลายคนหลงเชื่อ คล้อยตาม โดยไม่พิจารณาความจริงที่รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องกัญชาทำลายสมองเด็ก เป็นอันตรายต่ออนาคตของชาติ ทั้งที่งานวิจัยให้คำตอบตรงกันข้าม กัญชาช่วยลดการติดยาเสพติด กัญชาปกป้องสมอง และกัญชาเสรีช่วยลดปัญหาสังคมได้อีกด้วย” รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ กล่าว
ประกอบกับผลสำรวจพบว่าหลังจากปลดล็อกกัญชาเสรีในต่างประเทศเยาวชน “สูบบุหรี่ลดลง” “ดื่มสุราลดลง” และ “ใช้สารเสพติดอื่นๆ ลดลง โดยเฉพาะงานวิจัยที่ระบุว่า คนที่ติดบุหรี่ เมื่อนำกัญชามาใช้ทดแทน สามารถ “ลดหรือเลิกบุหรี่” ได้สูงถึง 74%
อาจารย์หมอยกตัวอย่างว่า กัญชาไม่ได้ทำลายสมอง แต่มีสรรพคุณปกป้องสมอง การันตีด้วยงานวิจัยพิสูจน์จำนวนมาก เรื่อง ผลของกัญชาต่อสมองด้วยเครื่องสแกนสมองแม่เหล็กไฟฟ้า จำนวน 16 งานวิจัย พบว่า กัญชาไม่ได้ทำลายสมอง เด็กที่ใช้กัญชามีโครงสร้างของสมอง “ไม่แตกต่าง” จากเด็กที่ไม่ได้ใช้กัญชา งานวิจัยของนักวิจัยประเทศอังกฤษร่วมกับนักวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ติดตามเด็กคู่แฝด จำนวน 1,989 คู่ คนหนึ่งใช้กัญชา อีกคนไม่ได้กัญชา พบว่า สติปัญญา (IQ) และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ (EF) “ไม่แตกต่างกัน อีกทั้งการรวบรวมผลงานวิจัยมากกว่า 1,000 ชิ้น พบว่า การใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์ “ไม่มีผลต่อสมอง” ของเด็กที่เกิดมา
Data and Picture origin at Norml and ufl.edu