‘สมศักดิ์‘ เผยใช้กัญชา-ไอคิวลดลง สวนทางงานวิจัยจากทั่วโลก!?
1 min readนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับสื่อมวลชนในช่วงหนึ่งว่า “ประชาชนที่บริโภคกัญชาเหล่านี้มีไอคิวลดลง คนส่วนใหญ่ยังกลัวกันอยู่” นี่คือความคิดในมุมมองของผู้ที่อาจจะยังไม่เข้าใจกัญชามากพอ
มีความน่าจะเป็นถึงคำถามว่า ‘รัฐมนตรีรู้จักกัญชามากพอหรือไม่‘ คำถามนี้คือเสียงเดียวกับผู้ก่อตั้งสหพันธ์กัญชาไทยที่ระบุว่า เขาไม่รู้เรื่องเลย ตอบเรื่องกัญชายาเสพติดแทบไม่ได้ ในเมื่อคุณต้องการที่จะนำเอากัญชากลับเข้าไปเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 คุณจำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าประชาชน ไม่ใช่ประชาชนมีความรู้มากกว่าคุณ
“กัญชาสูบแล้วโง่” เป็นหนึ่งในโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้คนกลัว ประเทศไทยมักสร้างปิศาจให้คนเกลียดและปกครองด้วยความกลัว ทำแบบย้อนแย้งกับแนวทางของโลก จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘กะลาแลนด์‘ เช่นเดียวกับในครั้งนี้ที่วลีของรัฐมนตรีสวนทางกับงานวิจัยระดับโลก
เริ่มจากสหรัฐฯ วารสารการแพทย์ด้านสมองระดับท็อปของโลก Journal of Psychopharmacology ศึกษาระบบการทำงานของสมองกับเยาวชนและผู้ใหญ่ที่ใช้กัญชาติดต่อกัน พบว่า กัญชาไม่ทำลายสมองของเด็ก ในทางกลับกัน กัญชายังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกรทำงานของสมองได้อีกด้วย
การศึกษานี้ใช้วิธีแพทย์สากลโดยทดสอบสมองในส่วนของประสาทส่วนกลาง central executive network
ที่เกี่ยวข้องความคิดเชิงบริหาร กระบวนการวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งเป็นโมเดลที่มักใช้ศึกษากลไกสมองของวัยรุ่นและผู้ติดยาเสพติด โดยใช้วิธีสแกนคลื่นสมองแบบ MRI ด้วยระบบคอมพิวเตอร์
กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ที่ใช้กัญชาต่อเนื่อง 2 ปี เปรียบเทียบกับสมองของกลุ่มที่ไม่ได้ใช้กัญชา กลุ่มตัวอย่าง 140 คน พบว่า ไม่พบความแตกต่างในสมองของเด็กและผู้ใหญ่ที่ใช้กัญชาติดต่อกัน โดยตรวจสอบการทำงานของสมองที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว การได้ยิน การมองเห็น ความผิดปกติของการเรียนรู้และหน่วยความจำไม่พบความแตกต่างระหว่างช่วงวัย ดังนั้นกัญชาทำลายสมองเด็กจึงไม่เป็นความจริง
ขณะที่สำนักวิจัยชื่อดัง Pew Research Center เปิดเผยผลการเก็บข้อมูลเชิงสถิติพบว่าตัวเลขผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและตัวเลขยอดผู้สมัครเข้ารับการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมากในรัฐที่เปิดให้ใช้กัญชาสันทนาการ พบว่าตัวเลขผู้ยื่นสมัครเรียนเพิ่มขึ้นถึง 53% นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรัฐที่ไม่เปิดให้ใมช้กัญชาเสรี สอดคล้องกับข้อมูลของ The outlet PsyPost ซึ่งศึกษาในรัฐที่เปิดกัญชาเสรีในปีแรกพบว่ายอดผู้สมัครเรียนจบมหาลัยเพิ่มขึ้น 5.5% สูงกว่ารัฐที่ยังไม่เปิดให้ใช้กัญชาเสรี
ด้านมหาวิทยาลัยโตรอนโต้ (University of Toronto) เผยแพร่ผลการศึกษาผู้ใช้กัญชาเป็นประจำในสหรัฐและแคนาดารวมจำนวนมากกว่า 260 คนเพื่อจับพฤติกรรมและแรงจูงใจในการใช้ชีวิต พบว่า ผู้ใช้กัญชาไม่มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเชิงขี้เกียจ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ใช้กัญชาบ่อย (Heavy user) ยังมีแรงจูงใจในการทำงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วยโดยมีความรับผิดชอบเป็นปัจเจก
ขณะที่ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ กลุ่มที่ใช้กัญชาได้รับคะแนนด้านความเฉยชาต่อสิ่งรอบน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้กัญชาเล็กน้อย หรือแปลว่าพวกเขามีความสุขกับตัวเองมากกว่า ขณะที่ในด้านแรงผลักดัน พวกเขาไม่พบว่าทั้งสองกลุ่มมีคะแนนแตกต่างกัน นักวิจัยยังพบอีกว่าปริมาณการใช้กัญชาไม่สัมพันธ์กับสมมติฐานการเกิดภาวะไม่แยแส (Apathy) หรือภาวะสิ้นยินดี (Apathy) นอกจากนี้ยังทำวิจัยควบคู่โดยให้ผู้ใช้กัญชากับผู้ไม่ใช้กัญาเล่นเกมเพื่อทดสอบ ‘ความกระตือรือร้น’ และเป็นอีกครั้งที่นักวิจัยไม่พบความแตกต่างระหว่างผู้ใช้และไม่ใช้กัญชา
งานวิจัยเรื่องสมองกับกัญชาในปีที่ผ่านมามีออกมาแล้วหลายชิ้นเพื่อต่อสู้กับวลีการด้อยค่ากัญชาเรื่องทำลายสมองเด็กและทำให้ป่วยทางจิต ซึ่งถูกปลุกปั่นอย่างมากไม่เว้นแม้แต่ในไทย งานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ได้แก่ Influence of cannabis use on incidence of psychosis in people at clinical high risk ตีพิมพ์ในวารสาร the Psychiatry and Clinical Neurosciences และ State Cannabis Legalization and Psychosis-Related Health Care Utilization ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Medical Association
อย่างไรก็ตามทัศนคติด้านกัญชาของเทรนด์โลกในปัจจุบันได้เปิดรับกัญชามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นในสหรัฐฯ มีผู้ตอบแบบสอบถามเกือบ 80% สนับสนุนการเปิดกัญชาเสรีในทุกรัฐ หรือแม้แต่ในยุโรปที่ทยอยปลดล็อคกัญชา เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มองว่า “กัญชา ปลอดภัยกว่า สุรา-บุหรี่”