กัญชง-กัญชา ช่วยลดโลกร้อน แก้วิกฤติขยะล้นทะเล
1 min readโลกของเรากำลังเผชิญภาวะวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมหนักสุดในประวัติศาสตร์ ทุกปีมีขยะพลาสติกกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเล กลายเป็นเมล็ดพลาสติก (ไมโครพลาสติก) สิ่งปนเปื้อนที่กระทบต่อสัตว์น้ำและย้อนกลับเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จนเป็นภัยร้ายสุขภาพไปอีกหลายชั่วอายุคน…..แต่วันนี้กัญชา-กัญชง สามารถช่วยกู้วิกฤติครั้งนี้ได้ไปสู่การผลิตใหม่ที่ยั่งยืนต่อโลก
พลาสติกกัญชา-กัญชง เกิดจากการนำเศษกากเหลือใช้มาผลิตใหม่โดยการสกัดเอาเส้นใยไฟเบอร์มาผลิตร่วมกับวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติอื่นๆ เช่น ซังข้าวโพด และกากอ้อย เป็นการผลิตซ้ำจากของเหลือทิ้งตามตำรา (Renewable productivity) ซึ่งการปรับมาใช้พลาสติกจากกัญชา-กัญชงมีประโยชน์ดังนี้
1.การย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติกธรรมดา 450 เท่า โดยพลาสติกกัญชา-กัญชง ใช้เวลาย่อยสลายแค่ 1 ปี ส่วนพลาสติกทั่วไปใช้เวลาย่อยสลาย 450 ปี
2.การผลิตไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการผลิตซ้ำจากกากใยธรรมชาติ ไม่ใช่การใช้เมล็ดพลาสติกเคมีที่ปล่อยก๊าซมลพิษจำนวนมากระหว่างการผลิต
3.ลดการใช้พลังงาน การผลิตพลาสติกกัญชา-กัญชง ใช้พลังงานน้อยกว่า 22%-45% เมือ่เทียบกับการผลิตพลาสติกปกติ
4.คุณภาพดีกว่าพลาสติกทั่วไป โดยมีน้ำหนักเบากว่าและหนาแน่นกว่าพลาสติกทั่วไป เช่นเดียวกับการใช้กัญชงผลิตส่วนประกอบเครื่องบินและรถแข่ง ซึ่งมีคุณสมบัติน้ำหนักเบาและแข็งแรงกว่าวัสดุอื่นๆ
5.การผลิตแบบยั่งยืน พลาสติกกัญชา-กัญชงเอื้อต่อการผลิตซ้ำเพราะเป็นพืชที่เติบโตเร็ว
6.ตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อมและการผลิตอย่างยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
7.ไร้สารเคมีอันตราย โดยเฉพาะสารกลุ่ม ENE เช่น toluene และ benzene
ปัจจุบัน ไมโครพลาสติกถูกพบในเลือดของมนุษย์จำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงรวมถึงมะเร็ง ข้อมูลพบว่าไมโครพลาสติกที่แทรกซึมเข้าสู่ร่างกายเรามีขนาดรวมกันใหญ่เท่ากับบัตรเครดิตในแต่ละสัปดาห์ ทุกวันนี้มีการผลิตพลาสติกมากกว่า 400 ล้านตันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 1.1 พันล้านตันต่อปีในอีก 25 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการมีพลาสติกเหลือทิ้งปีละหลายล้านตัน
ขณะที่ประเทศไทยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนเม็ดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic Compound) ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) โดยใช้เส้นใยส่วนที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปกัญชงเพื่อจัดการของเสียแบบขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) มาเพิ่มมูลค่าสู่ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนต่อยอดการวิจัยพัฒนาสูตรการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชกัญชงในเชิงพาณิชย์สู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ปัจจุบันมีการผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมของเส้นใยกัญชง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในอนาคต ที่จะช่วยลดขยะเส้นใยกัญชงเหลือทิ้งและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกต่อไป