Channel Weed Thailand

420PRODUCTION.CO.,LTD

ส่องประวัติศาสตร์ “กัญชารักษาโรค” รู้จักหมอขี้ยาคนแรกของโลก

1 min read

“ผู้ป่วยคนแรกหลังจากได้รับการรักษาด้วยกัญชา พูดเก่งขึ้นมาทันที แถมขออาหารเพิ่มด้วย” คุณหมอจดบันทึกความสำเร็จครั้งแรกรักษาคนไข้เมื่อปี พ.ศ. 2381 หรือกว่า 186 ปีมาแล้ว ดร.วิลเลียม บรูก โอชอเนสซี่’ (William Brooke O’Shaughnessy) ถูกยกย่องให้เป็นหมอขี้ยาที่ทั้งสูบกัญชาและวิจัยพัฒนาใช้กัญชาเป็นรายแรกของเวชศาสตร์ตะวันตก โดยใช้สายพันธุ์ Indica ซึ่งเป็นสายพันธ์ท้องถิ่นในเมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย ซึ่งหมอวิลเลียมอาศัยอยู่ในขณะนั้นช่วงจักรวรรดิบริติช (British Empire) ยึดประเทศอินเดียเป็นเมืองขึ้นของสหราชอาณาจักร

จุดเริ่มต้นเกิดจากหมอวิลเลียมหันมาใช้กัญชาเพื่อผ่อนคลายยามว่างจากอาชีพแพทย์ผ่าตัด เขาใช้ความหลงไหลเพื่อศึกษาทดลองเชิงวิทยาศาสตร์สากลกับตัวเองทั้งการสูบ การต้มน้ำดื่มและการบริโภคยางกัญชา จากนั้นจึงทดลองใช้กัญชากับสัตว์ ทั้งสุนัขจรจัด แมว แพะ ปลา นกแร้ง หรือนกกระสา สิ่งที่น่าสนใจที่สัตว์ทุกตัวมีอาการร่วมกันคือความผ่อนคลายและลดความเจ็บปวด อีกทั้งยังไม่มีสัตว์ทดลองใดตายระหว่างการทดลอง แม้จะใช้กัญชาในปริมาณค่อนข้างมากก็ตาม

หมอวิลเลียมจึงเริ่มทดลองใช้กัญชารักษามนุษย์ ซึ่งผู้ป่วยคนแรกผู้ป่วยมนุษย์คนแรกที่ทดลอง เป็นชาวอินเดียผู้เป็นโรคไข้รูมาติก (Rheumatic fever) และข้ออักเสบ (Migratory polyarthritis) มีอาการปวดร้าว-เนื้อเยื่ออักเสบ-ไม่อยากอาหาร ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการค้นพบยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคชนิดนี้ได้ หมอวิลเลียมจึงรักษาโดยการนำยางกัญชามาละลายในแอลกอฮอล์ 2 วัน แล้วนำไปต้มเพื่อทำน้ำมันกัญชา คล้ายปาฏิหาริย์….เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นโดยพลันซึ่งคุณหมอบันทึกความสำเร็จเอาไว้ว่า “ผู้ป่วยจู่ๆก็พูดเก่ง ร้องเล่นเพลง เจริญอาหารอีก แถมย้ำบอกว่าตัวเองกำลังจะหายป่วย” พร้อมสรุปผลการรักษาว่า หลังจากที่ให้กัญชาไปแล้วกล้ามเนื้อผู้ป่วยค่อยๆคลายตัว เคลื่อนไหวได้มากขึ้นโดยลดความเจ็บปวดตามข้อลง และกัญชาไม่มีผลกระทบทางร่างกายที่ย่ำแย่ใดๆ ต่อผู้ป่วย

ชื่อของหมอกัญชาคนแรกโด่งดังเป็นพลุแตกเมื่องานวิจัยกัญชารักษาโรคของเขาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการปี 1842 British Medical Journal สร้างความตื่นตะลึงให้กับหมอทั้งโลก ถึงศาสตร์การรักษาใหม่สุด Exotic ไม่เคยมีมาก่อนถึงขั้นราชวงศ์อย่างสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร (Queen Victoria) ให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยกัญชารักษาโรค พร้อมทดลองเพิ่มเติมกับโรคปวดศีรษะไมเกรน โรคอหิวาตกโรค บาดทะยัก และโรคลมชัก เป็นต้น ซึ่งก็พบว่ากัญชาช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดความเจ็บปวด ผ่อนคลายจิตใจ เพิ่มการรับอาหารและลดการชักกระตุกของผู้ป่วยได้จริง ถือเป็นอีกหนึ่งยุคเรืองรองของกัญชาที่ถูกจัดให้เป็นยาในการแพทย์สมัยใหม่อยู่ประมาณ 50 ปี

หนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของหมอวิลเลียมเกิดขึ้นเพราะการบริโภคกัญชาไม่ใช่เรื่องใหม่ของอินเดียในสมัยนั้น แต่มันคือรากเหง้าวัฒนธรรมบรรพบุรุษที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนานในอินแดนชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) คำว่า กัญชา (Ganja) ก็มาจากคำพื้นถิ่นของอินเดีย ผูกโยงกับวิถีศาสนาทั้งฮินดู (Bhakti Yoga) ถูกพบในคัมภีร์พระเวทท์รจนาเรื่องเครื่องดื่มกัญชา (Soma) อมตะ ในพิธีแต่งงานของชาวอินเดีย (Varmala) ยังใช้ใบกัญชาเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย นอกจากนี้กัญชาถูกใช้เป็นพืชบูชาของพระศิวะ มหาเทพแห่งศาสนาฮินดู ทุกปีอินเดียจะมีเทศกาลสูบกัญชาชื่อว่า ศิวาราตรี ไปจนถึงวันสงกรานต์อินเดีย (Holi) และภูมิปัญญาการดื่มนมกัญชา (Thandai) หรือ Bhang milk ช่วงเวลาที่อยู่ในอินเดียนี้เองที่ วิลเลียมได้คลุกคลีกับตำนานฮินดู ชวนนักแปลไปอ่านเอกสารโบราณหลายชิ้นที่ระบุถึงการใช้กัญชาในการรักษาโรค ปรึกษาหมอตามหมู่บ้านต่างๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก thematter.co

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *