ไทยตั้ง ‘สมาพันธ์กัญชงเอเชีย’ ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ 7 แสนล้านบาท
1 min readนายพรชัย ปัทมินทร นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย กล่าว สมาคมการค้าอุตสาหกรรมกัญชงไทย ร่วมมือกับพันธมิตรนานาชาติ จัดตั้ง ‘สมาพันธ์กัญชงนานาชาติเอเชีย’ (Asia International Hemp Federation – AIHF) ขึ้นเป็นครั้งแรก รวมทั้งหมด 12 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ปากีสถาน มองโกเลีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยูเครน สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศ EU เพื่อส่งเสริมการค้าและพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ และอุปสรรคทางการค้าในแต่ละประเทศ รวมถึงการจัดตั้งแพลตฟอร์มการค้าผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อ ผู้ขาย นำไปสู่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมและผู้จัดจำหน่าย
นายพรชัยกล่าวต่อว่า มูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมกัญชงทั่วโลก และนับรวมกับกัญชงเพื่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอีก 5-10 ปีข้างหน้า 700,000 ล้านบาท – 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 15-20% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัสดุจากกัญชง (รวมพลาสติกชีวภาพและวัสดุก่อสร้าง) มีมูลค่าประมาณ 160,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีข้างหน้า ส่วนการพัฒนาการใช้วัตถุดิบกัญชงในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ มีแนวโน้มการเติบโตตามเทรนด์ Health & Wellness โดยในปี 2024 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1.33 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท ในปี 2027 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.5% ต่อปี ซึ่งการเติบโตดังกล่าวจากปัจจัยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism) ความนิยมผลิตภัณฑ์จากสารสกัดธรรมชาติที่มีมากขึ้น อีกทั้งในทางการแพทย์ผลิตภัณฑ์จากกัญชงสามารถลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรค NCDs (non-communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สร้างขึ้นเองจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น
ปัจจุบันพืชกัญชงได้รับการพัฒนาให้สามารถนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งบริบทสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างคือการเป็นพืชลดการปล่อยคาร์บอนและเน้นดูดซับมากกว่าการปล่อย (Carbon Negative) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเส้นใยจากกัญชงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและกำลังเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้นพืชกัญชง ถือเป็นพืชทางเลือกที่ต้องเร่งศึกษาและวิจัยนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเส้นใยที่มีมูลค่ามหาศาล ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต