หักดิบกัญชา ดับฝันเศรษฐกิจชาติ-ตัดโอกาสแข่งขันไทย เสียภาพลักษณ์ลงทุน ในวันที่ GDP ไทยโตต่ำสุดในอาเซียน
1 min readสำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังหลายแห่งต่างรายงานข่าวเรื่องการเสียโอกาสของประเทศไทยหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ย่อมกระทบเม็ดเงินในอุตสาหกรรมซึ่งประเมินไว้สูงกว่า 30,000 ล้านบาท และมีโอกาสสูงถึง 48,000 ล้านบาท โดย The Guardian ระบุว่า การปลดล็อกกัญชาในครั้งนั้นก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงหลังโควิด เนื่องจากอุตสาหกรรมและธุรกิจกัญชาเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพและมีเพียงไม่กี่แห่งในโลกในครั้งที่ไทยเริ่มปลดล็อกกัญชาเป็นชาติแรกในเอเชีย
ปัญหาที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยคือเครื่องยนต์เศรษฐกิจ เก่า-พัง-ดับ ไม่มีอุตสาหกรรมใหม่ที่สอดคล้องเทรนด์โลกและสร้างความแตกต่างในภูมิภาคเอเซีย ซ้ำร้ายรัฐบาลไทยกำลังจะตัดโอกาสอุตสาหกรรมใหม่อย่างกัญชา ส่งผลให้ตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของไทยเติบโตเพียง 1.5% ต่ำสุดในอาเซียน ล้าหลังประเทศเวียดนามเกือบ 4 เท่า แม้แต่ประเทศรัฐประหารเมียนมายังดีกว่าไทย แนวโน้มหัวทิ่มไทยเติบโตต่ำลงทุกปีหลังโควิด สวนทางกับเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นทุกปี ดังนั้น “การนำกัญชากลับเป็นยาเสพติด” คือนโยบายทำลายอนาคตประเทศ ในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างมูลค่าได้ปีละหลายแสนล้านบาท ทั้งยังครองผู้นำกัญชาในเอเชียประเทศเดียว ย่อมเสริมแกร่งเศรษฐกิจด้านสุขภาพ-ท่องเที่ยวอีกนับไม่ถ้วน
การทำลายอุตสาหกรรมกัญชาคือการดับอนาคตเศรษฐกิจไทย ตัดโอกาสการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของเศรษฐกิจทั้งเรื่องหนี้ครัวเรือนที่มีระดับสูง และหนี้เน่า (NPL) หากผู้ประกอบอาชีพกัญชาถูกให้หยุดดำเนินการ ยิ่งทับถมปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไทยอาจติดหล่มแบบถาวร ในรอบ 10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่า 3% คงเป็นเรื่องยาก ถ้าตัดโอกาสของพืชกัญชา เพราะที่ผ่านมาภาคการผลิตไทยยังมีแนวโน้มอ่อนแรงและเสียดุลการค้าต่อเนื่องจากการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีน ดังนั้นต้องกลับมาดูว่าบ้านเรามีสินค้าส่งออกอะไรที่สู้เพื่อนบ้านอาเซียนได้บ้าง หนึ่งในคำตอบคือกัญชาแน่นอน
ด้านแกนนำเครือข่ายสมาพันธ์กัญชาเพื่อประชาชน กล่าวว่า การปรับนโยบายกฎหมายกัญชาย่อมกระทบกับภาพลักษณ์เศรษฐกิจของประเทศ เพราะไทยพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อนโยบายของรัฐบาลไม่นิ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จึงทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในทุกอุตสาหกรรมสั่นครอน มองว่านโยบายทางเศรษฐกิจที่ไทยไม่แน่นอน-ไม่คุ้มเสี่ยงเข้ามาลงทัน มันกระทบภาพลักษณ์ไปทั้งระบบ
รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เรื่องแรก คือ กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของนักลงทุนจากนโยบายที่กลับไปกลับมา ประเทศไทยเป็นผู้นำของโลกที่ตัดสินใจนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล้าปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติดซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น จากข้อมูลของหอการค้าไทย ระบุว่า กัญชาเสรีช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คาดว่า ตลาดกัญชาจะมีมูลค่า 14,000 ล้านบาทภายในปี 2568 ดังนั้น การนำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติดจะสูญเสียการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมากและรัฐบาลอาจต้องสูญเสียรายได้และงบประมาณเยียวยาผู้เสียหายด้วย
“กัญชา เป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาสมุนไพรของชาติซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีสมุนไพรใดที่มีศักยภาพนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้ไม่เต็มที่ขณะเดียวกันการปลูกกัญชานั้นต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างมากซึ่งประเทศไทยสามารถปลูกพืชที่มีความยากขนาดนี้ได้จึงเป็นข้อได้เปรียบ ทำให้เราสามารถที่จะพัฒนาสายพันธุ์ดีๆ รวมถึงเรื่องของเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยได้เยอะ ตลอดจนเรื่องของการตลาดรวมถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจซึ่งหากดูมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วมีมูลค่านับแสนล้านบาทที่จะทำรายได้ให้กับประเทศชาติ ไม่นับรวมกับเม็ดเงินของการลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาอีกจำนวนมาก” รศ.ดร.นพ.ธวัชชัย กล่าว
ด้าน รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่าการนำนโยบายกัญชากลับมาเป็นยาเสพติด ต้องพิจารณาให้รอบคอบ รอบด้านว่าอะไรคือ ปัญหาของนโยบายกัญชาที่แท้จริง อะไรคือ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการแพทย์ โอกาสของผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอะไร คือ ผลกระทบที่จะตามมา มันต้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงสาเหตุปัญหา และ การแก้ไขที่ถูกจุด เพราะจากนโยบายกัญชา หลังถูกประกาศใช้ไปแล้วก็มีประโยชน์ทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง มันผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษา มันมีคนปลูกกัญชาขาย แล้วเขาทำถูกต้อง พวกนี้จะรับผิดชอบเขาอย่างไร
“ถ้าเอากลับเป็นยาเสพติด ทั้งที่ก่อนหน้านี้บูมข่าวกันใหญ่โต ปลดล็อกกัญชาแล้ว ต่างชาติแห่มาลงทุน ในประเทศเอง ก็ลงทุนไปเยอะ แล้ววันดี คืนดี เอากลับมาเป็นยาเสพติด เขาจะมองว่านโยบายประเทศนี้ มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ แบบนี้ อนาคตใครจะกล้ามาลงทุน ลงเงิน ก็คิดกันให้ดีๆ คิดรอบด้าน คิดให้รอบคอบ” รศ.ดร.โอฬาร กล่าว