สุดปัง!! พรบ.ใหม่อนุญาตครอบครองกัญชา-เปิดช่องผู้ใช้หลากหลาย แต่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์?
1 min readจับตา พรบ.กัญชาฉบับใหม่เวอร์ชั่นกระทรวงสาธารณสุข ไม่กำหนดโทษ “การครอบครองกัญชา” พร้อมเปิดกว้างช่องทางบริโภค พ่วงเงื่อนไขสั่งจ่ายโดยแพทย์หลากแขนง นั่นแปลว่าการพกกัญชานั้นไม่มีความผิด ส่อผู้ใช้ต้องมีบัตรผู้ป่วย ส่วนผู้ขายต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ถึงจะเข้าหลักการบริโภคอย่างถูกกฎหมาย
>>>ผู้ใช้กัญชา
พรบ.กัญชาฉบับใหม่ได้ระบุข้อยกเว้นทางกฎหมายสำหรับผู้ใช้กัญชาไว้ในมาตรา 46 ซึ่งกว้างขวางและครอบคลุมการบริโภคเพื่อการบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วย หรือป้องกันโรค รวมถึงการนำไปใช้เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น ประกอบกับการที่ไม่มีบทลงโทษผู้ครอบครองกัญชา ทั้งยังมีการตัดในส่วนของบทลงโทษการใช้กัญชาสันทนาการอีกด้วย แต่มีเงื่อนไขบังคับให้ผู้บริโภคและผู้ขายจะต้องดำเนินการโดยมีใบรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย เป็นต้น ดังนั้นหากจะเข้าข้อกฎหมายตรงนี้จึงต้องมี 2 ตัวแปรสำคัญคือ 1.บัตรผู้ป่วย 2.ใบสั่งจ่ายยา (Medical prescription)
ขณะที่ผู้ปลูกต้องขอรับใบอนุญาตเพาะปลูกกัญชาตามขนาดพื้นที่เพาะปลูก หากปลูกโดยไม่มีใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับผู้จำหน่าย/ส่งออก/สารสกัด ต้องมีใบอนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไข หากฝ่าฝืนเตรียมเจอโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับสูงสุด 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากนำเข้ากัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 500,000 บาท ส่วนร้านกัญชาหากพบว่ามีการใช้กัญชาที่ไม่ใช่เพื่อสุขภาพ (สันทนาการ) ต้องระวางโทษจําคุก 1 ปี หรือปรับสูงสุด 100,000 บาท
>>>ร้านค้ากัญชา
ส่วนด้านร้านค้ากัญชามีการเพิ่มเงื่อนไขต้องสั่งจ่ายยาโดยแพทย์และการจำหน่ายต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ พร้อมเงื่อนไขเดิมคือห้ามขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และกลุ่มเสียง รวมถึงห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาทุกประเภทในพื้นที่โรงเรียน วัด สถานที่ทางศาสนา หอพัก สวนสนุกและสวนสาธารณะ เป็นต้น ตลอดจนห้ามขายโดยการตั้งหาบเร่แผงลอย (kiosk) และห้ามขายโดยใช้ตู้กดอัตโนมัติ (Vending Machine) นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามการทำตลาดในผลิตภัณฑ์กัญชาซึ่งจะกล่าวถึงในบทความต่อๆไป
“เมื่อกัญชาไม่เป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมาย ประชาชนจึงอาจสามารถครอบครอง บริโภค และใช้กัญชาได้อย่างแพร่หลาย” ส่วนหนึ่งของ พรบ.ใหม่ระบุ